ตู้ยาโรงเรียน


เกร็ดความรู้

ไข้หวัดที่มีภาวะแทรกซ้อน

       ไข้หวัดที่มีภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ไข้หวัดที่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้มีอาการไข้นานเกิน 3 วัน มีน้ำมูก/เสมหะข้นสีเหลืองหรือเขียวนำมาก่อน และอาจมีอาการอื่นๆ ที่เกิดจากการลุกลามของเชื้อแบคทีเรียไปยังบริเวณใกล้เคียง ทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา มักเกิดขึ้นเมื่อมีสุขภาพอ่อนแอ พักผ่อนไม่เพียงพอ ตรากตรำทำงานหนัก หรือไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกเริ่มเป็นไข้หวัด

อาการ
       อาการไข้นานเกิน 3 วัน มีน้ำมูก / เสมหะข้นสีเหลืองหรือเขียวกินยาลดไข้มักไม่ค่อยทุเลา มักจะไม่ใช่ไข้หวัดธรรมดา แต่อาจมีสาเหตุอื่นๆ เช่น ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ

การรักษาเบื้องต้น
การปฏิบัติตัว
       เหมือนการปฏิบัติตัวของไข้หวัด

1.พักผ่อนมากๆ
2.ไม่ควรออกกำลังกายมาก งดเล่นกีฬากลางแจ้ง
3.สวมเสื้อผ้าที่อบอุ่น
4.ดื่มน้ำมากๆ ควรดื่มน้ำธรรมดาหรือน้ำอุ่น เพราะการดื่มน้ำเย็นจะทำให้ไอมากขึ้น
5.กินอาหารอ่อน เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก เครื่องดื่มร้อน น้ำหวาน น้ำผลไม้
6.ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาเช็ดตัวเวลามีไข้     
ให้ยารักษาตามอาการ
1.ถ้ามีไข้ให้ ยาพาราเซตามอล ชนิดน้ำสำหรับเด็กเล็ก ชนิดเม็ดสำหรับเด็กโต
2.ถ้ามีอาการน้ำมูกไหลมากจนสร้างความรำคาญ ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน โดยให้ใน 2-3 วันแรก เมื่ออาการทุเลาแล้วควรหยุดยา หรือถ้าอาการไม่มากไม่ควรให้ยา หากเด็กเล็กไอ มีเสมหะเหนียวให้งดยาแก้แพ้ 
3.ถ้าไอมีเสมหะ ควรจิบน้ำอุ่น หรือ จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (อัตราส่วน น้ำผึ้ง 4ส่วน : น้ำมะนาว 1 ส่วน) ถ้าไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ หรือคันคอ ไม่มีเสมหะ ให้จิบยาแก้ไอน้ำดำ ในเด็กถ้ามีเสมหะให้ ยาน้ำแก้ไอขับเสมหะสำหรับเด็ก หากไอมากควรส่งต่อสถานพยาบาล อาจจำเป็นต้องใช้ยา แก้ไอขับเสมหะชนิดเม็ด หรือ ยาระงับไอ
4.นอกจากรักษาตามอาการแล้ว ควรส่งต่อสถานพยาบาล เพื่อวินิจฉัยภาวะแทรกซ้อน ดูรายละเอียดใน ทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ

การป้องกัน
1.ปฏิบัติเช่นเดียวกับการป้องกันไข้หวัด

- ใส่หน้ากากอนามัย

ล้างมือบ่อยๆ

แยกผู้ป่วยให้ห่างจากผู้อื่น เช่น ไม่นอนปะปน หรือคลุกคลีใกล้ชิดกัน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด

ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ของเล่นร่วมกัน

ควรให้เด็กที่เป็นไข้หวัด หยุดเรียน 1-3 วัน

2.เมื่อเป็นหวัดแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการสั่งน้ำมูกแรงๆ เพราะอาจทำให้เชื้อลุกลามเข้าช่องหูและโพรงไซนัส เกิดภาวะแทรกซ้อนได้

เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 40-41.


ร่วมสนับสนุนโดย มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.)