เกร็ดความรู้

หัดเยอรมัน

       เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบประปรายตามโรงเรียนได้ตลอดทั้งปี แต่ระบาดน้อยกว่าหัดและอีสุกอีใส พบมากในช่วงอายุ 15-24 ปี โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส มักหายได้เองโดยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง ที่สำคัญคือ ถ้าโรคนี้เกิดในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก เชื้ออาจกระจายเข้าสู่ทารกในครรภ์ ทำให้ทารกพิการ แท้ง หรือตายในครรภ์ได้

อาการ
       ระยะแรกมีอาการไม่สบายเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ ปวดตา เจ็บคอ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ หรืออาจมีอาการไข้หวัด เป็นอยู่ 1-5 วัน จะมีผื่นขึ้นทั่วตัวคล้ายหัด แต่ผื่นจะเล็กกว่า และผื่นจะจางหายไปภายในเวลา 3 วัน ลักษณะเฉพาะของโรคนี้ คือ มีต่อมน้ำเหลืองโต ตรงหลังหู หลังคอ ท้ายทอย และข้างคอทั้ง 2 ข้าง  

การรักษาเบื้องต้น

การปฏิบัติตัว
ดูแลและปฏิบัติตัวเหมือนไข้หวัด

1.พักผ่อนมากๆ
2.ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาเช็ดตัวเวลามีไข้
3.ดื่มน้ำหวานหรือน้ำผลไม้มากๆ                                                                                                                                                              

ให้ยารักษาตามอาการ
1.ถ้ามีไข้ให้ ยาพาราเซตามอล ชนิดน้ำสำหรับเด็กเล็ก ชนิดเม็ดสำหรับเด็กโต ควรหลีกเลี่ยงการให้ยาแอสไพริน
2.ถ้าคันมากให้ ยาทาแก้แพ้ แก้ผดผื่นคัน คาลาไมน์โลชั่น
3.หากสงสัยมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น สมองอักเสบ ไขสันหลังอักเสบ ภาวะเกร็ดเลือดต่ำทำให้มีเลือดออก ควรส่งต่อโรงพยาบาล ด่วน

การป้องกัน
1.ควรแยกผู้ป่วยอย่าให้คลุกคลีกับคนอื่นจนกว่าจะพ้นระยะติดต่อ (6 วันหลังผื่นขึ้น)
2.โรคนี้เป็นแล้วจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิต ไม่เป็นซ้ำอีก
3.โรคนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน โดยฉีดวัคซีนรวม หัด คางทูม หัดเยอรมัน เป็นวัคซีนบังคับ (วัคซีนพื้นฐาน) เข็มแรกเมื่ออายุ 9-12 เดือน และฉีดซ้ำเมื่ออายุ 4-6 ปี
4.ช่วงที่มีการระบาด หรือมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคนี้แนะนำให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับไข้หวัด

  • ควรดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ
  • ช่วงที่มีการระบาด

- ใส่หน้ากากอนามัย

ล้างมือบ่อยๆ

แยกผู้ป่วยให้ห่างจากผู้อื่น เช่น ไม่นอนปะปน หรือคลุกคลีใกล้ชิดกัน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด

ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ของเล่นร่วมกัน

เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 56-57.


ติดต่อเรา | แผนผังเว็ปไซต์
เข้าสู้เว็บไซต์