ตู้ยาโรงเรียน


เกร็ดความรู้

หัด

       มักพบในเด็กอายุ 2-14 ปี พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โรคนี้สามารถติดต่อแพร่กระจายได้ง่าย มักพบระบาดในโรงเรียน พบได้ตลอดทั้งปี พบมากในเดือน มกราคมถึงเมษายน
โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ และปัสสาวะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการหายใจสูดเอาฝอยละอองเสมหะที่ผู้ป่วยไอ หรือจามรด หรือโดยการสัมผัสถูกมือ สิ่งของเครื่องใช้ หรือสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อ และยังสามารถแพร่กระจายทางอากาศได้เหมือนไข้หวัดใหญ่

อาการ
       มีอาการไข้สูงขึ้นทันทีทันใด ระยะแรกอาการคล้ายไข้หวัด แต่ไข้จะสูงอยู่ตลอดเวลา ซึม เบื่ออาหาร น้ำมูกใส ไอแห้งๆ น้ำตาไหล ตาแดง อาจมีอาการถ่ายเหลวบ่อยครั้งเหมือนท้องเดิน ลักษณะเฉพาะของโรค คือ ผื่นขึ้นหลังจากมีไข้ 3-4 วัน เป็นผื่นราบสีแดง ขึ้นทั่วตัว หลังจากผื่นขึ้น ไข้ก็จะลง และอาการอื่นๆ ก็ทุเลา

การรักษาเบื้องต้น
การปฏิบัติตัว

ดูแลและปฏิบัติตัวเหมือนไข้หวัด

1.พักผ่อนมากๆ
2.ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดาเช็ดตัวเวลามีไข้
3.ดื่มน้ำหวานหรือน้ำผลไม้มากๆ
ให้ยารักษาตามอาการ
1.ถ้ามีไข้ให้ ยาพาราเซตามอล  ชนิดน้ำสำหรับเด็กเล็ก ชนิดเม็ดสำหรับเด็กโต ควรหลีกเลี่ยงการให้ยาแอสไพริน
2. ถ้าไอมีเสมหะ ให้ ยาละลายเสมหะ  และจิบน้ำอุ่น หรือ จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (อัตราส่วน น้ำผึ้ง 4ส่วน : น้ำมะนาว 1 ส่วน)   ถ้าไอแห้งๆไม่มีเสมหะ ให้ ยาแก้ไอ
3.หากมีอาการไอ หายใจหอบ ท้องเดินจนมีอาการขาดน้ำ ซึม ชัก ควรส่งต่อโรงพยาบาล ด่วน

การป้องกัน
1.โรคนี้เมื่อเป็นแล้วจะมีภูมิคุ้มกันไปตลอดชีวิตและไม่เป็นซ้ำอีก
2.สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน โดยวัคซีนบังคับ (วัคซีนพื้นฐาน) ฉีดเข็มแรกเมื่ออายุ 9-12 เดือน และเข็มที่ 2 เมื่ออายุ 4-6 ปี
3.ช่วงที่มีการระบาด หรือมีคนใกล้ชิดป่วยเป็นโรคนี้แนะนำให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับไข้หวัด

- ใส่หน้ากากอนามัย

ล้างมือบ่อยๆ

แยกผู้ป่วยให้ห่างจากผู้อื่น เช่น ไม่นอนปะปน หรือคลุกคลีใกล้ชิดกัน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในที่ที่มีผู้คนแออัด

ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ ของเล่นร่วมกัน

 

เอกสารอ้างอิง
1. มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา. คู่มือตู้ยาโรงเรียนและแนวทางการรักษาโรคที่พบบ่อย. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ: มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา; พ.ศ. 2553. หน้า 54-55.


ร่วมสนับสนุนโดย มูลนิธิเพื่อการวิจัยและพัฒนาระบบยา (วพย.)